วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ข้อมูลทั่วไป

ข้อมูลทั่วไปและสภาพแวดล้อมขององค์กร

ประวัติความเป็นมาและข้อมูลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหว้าน
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหว้าน เดิมชื่อ สถานีอนามัยบ้านหว้าน ตั้งอยู่ที่ บ้านหว้าน หมู่ที่ 8 ก่อสร้างเมื่อปี 2525 โดยการบริจาคที่ดินของนางทุม ราชเจริญ ซึ่งติดกับชุมชนบ้านตามุง หมู่ 17 ตำบลสำโรงปราสาท อำเภอปรางค์กู่ และเริ่มเปิดให้บริการเมื่อปี 2525 ซึ่งเป็นแบบแปลนตามโครงการประชากรพื้นที่ใช้สอย 55 ตารางเมตร พื้นสถานีอนามัยแบบต่ำ มีบ้านพัก จำนวน 2 หลัง 
ปี 2546 ได้รับงบประมาณสนับสนุนก่อสร้างสถานีอนามัยทดแทน ตามแบบ 8170/2536 ก่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2547 มีพื้นที่ใช้สอย 150 ตารางเมตร


 
ปี 2554 ได้ยกระดับจากสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหว้าน 




ปี 2557 ได้มีการก่อสร้างต่อเติมด้านข้างทั้งของอาคารโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหว้าน และอาคารหลังเก่าฝั่งซ้ายมือทางหมู่บ้านตามมุงขอใช้เป็นสถานที่เพื่อสร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ IT ชุมชนบ้านตามุง และฝั่งขวาทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหว้านได้ปรับปรุงอาคารสร้างเป็นอาคารแพทย์แผนไทย และเปิดใช้ในปี 2558 จนถึงปัจจุบัน 

สภาพพื้นที่ตั้ง
        โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหว้านห่างจากอำเภอปรางค์กู่ไปทางทิศเหนือ ประมาณ 6 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม ไม่มีภูเขา พื้นดินส่วนใหญ่เหมาะแก่การทำนา ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย ไม่มีแม่น้ำไหลผ่าน มีเพียงลำห้วย และหนองน้ำเท่านั้น ลำห้วยที่สำคัญคือ ลำห้วยและคลองอิสานเขียว ห่างจากจังหวัดศรีสะเกษประมาณ  70 กิโลเมตร

อาณาเขตติดต่อ
       ทิศเหนือ  ติดกับตำบลกล้วยกว้าง  อำเภอห้วยทับทัน
         ทิศใต้  ติดกับตำบลพิมายเหนือ อำเภอปรางค์กู่
         ทิศตะวันออก  ติดกับตำบลสำโรงปราสาท  (เขตรับผิดชอบสถานีอนามัยบ้านตาเปียง)
         ทิศตะวันตก      ติดกับตำบลผักไหม อำเภอห้วยทับทัน

ลักษณะภูมิประเทศ    
ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่ม มีแหล่งน้ำธรรมชาติ สภาพดินเป็นดินปนทรายไม่อุ้มน้ำ ทำให้ฤดูแล้งมีความแห้งแล้งมาก ดินมีคุณภาพต่ำ

สภาพภูมิอากาศ 
       ลักษณะอากาศทั่ว ๆ ไป  มีอากาศร้อนจัดในฤดูร้อน  และหนาวจัดในฤดูหนาว  เพราะได้รับอิทธิพลลมหนาวจากประเทศจีน ทำให้อากาศหนาวเย็น  และแห้งแล้งทั่วไป  ส่วนในฤดูฝนจะมีฝนตกในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน เมื่อพิจารณาลมฟ้าอากาศแล้ว  แบ่งได้ เป็น  3  ฤดูกาล  ดังนี้
       ฤดูร้อน ตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ – เมษายน
       ฤดูฝน ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม – ตุลาคม
       ฤดูหนาว ตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน – มกราคม

สภาพเศรษฐกิจ
         ประชากรส่วนใหญ่  ประกอบอาชีพเกษตรกรรม  รองลงมาประกอบอาชีพรับจ้าง และค้าขาย
        อาชีพที่ทำรายได้ให้กับประชากรมากที่สุด  คือ  เกษตรกรรม  โดยพืชที่นิยมปลูก ได้แก่  ข้าว  และพืชไร่  ได้แก่  ยางพารา  อ้อย  มันสำปะหลัง
        ด้านการเลี้ยงสัตว์  เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงไว้เพื่อบริโภคภายในครอบครัว  และนำบางส่วนมาจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้เสริม

        ด้านอุตสาหกรรม  มีโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าการเกษตร  ได้แก่  โรงสีข้าวขนาดเล็ก

สภาพสังคม
        เป็นสังคมชนบทแบบเกษตรกรรม  โดยภาษาที่ใช้  ได้แก่  ภาษาไทยอีสาน  ภาษาเขมร  และภาษากวย(ส่วย)  

การคมนาคม
        ตำบลสำโรงปราสาท ห่างจากตัวอำเภอปรางค์กู่ ประมาณ  6 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ  10  นาที ห่างจากตัวจังหวัดศรีสะเกษ ประมาณ  70   กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ   1  ชั่วโมง  30 นาที

        การคมนาคมในตำบลสำโรงปราสาท  มีถนนลาดยาง  ถนนคอนกรีตและถนนลูกรัง  

การติดต่อสื่อสาร
        - หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน จำนวน  5  แห่ง
        - โทรศัพท์บริการในหมู่บ้าน จำนวน  5  แห่ง
        - การติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ในทุกระบบ สามารถติดต่อครอบคลุมเต็มพื้นที่

ระบบสาธารณูปโภค
        - มีไฟฟ้าใช้ทุกหลังคาเรือนการไฟฟ้าเข้าถึงทุกหมู่บ้าน
        - มีระบบประปาหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน

การศึกษา
      ระดับก่อนวัยเรียน  มีจำนวน  2  ศูนย์ฯ  ดังนี้
                1. ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์บ้านสำโรง
                 ( สถานที่ตั้ง :  บริเวณโรงเรียนบ้านสำโรง หมู่ 2 ) 

                2ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์บ้านหว้าน
                 ( สถานที่ตั้ง :  บริเวณติดศาลาประชาคมบ้านหว้าน หมู่ 8 ) 
         ระดับประถมศึกษา  มีจำนวน  2 โรงเรียน  ดังนี้
                1. โรงเรียนบ้านสำโรง
                    (สถานที่ตั้ง  : บ้านสำโรง   หมู่ที่ 2)

                2. โรงเรียนบ้านหว้าน
                    (สถานที่ตั้ง  :  บ้านหว้าน  หมู่ที่ 8 )


        การศาสนา
   ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ  ร้อยละ  95  มีวัดและสำนักสงฆ์ จำนวน 3  แห่ง  ดังนี้                                                 
        1. วัดบ้านสำโรง (สถานที่ตั้ง  : หมู่ที่ 2 )
        2. สำนักสงฆ์บ้านหนองผึ้ง (สถานที่ตั้ง  : หมู่ที่  7 )
        3. วัดบ้านหว้าน (สถานที่ตั้ง  : หมู่ที่ 8)
       
ประเพณีและวัฒนธรรม
           เดือนอ้าย      ชาวบ้านจะทำบุญเลี้ยงผีต่าง ๆ 
           เดือนยี่       ชาวบ้านจะทำบุญบ้าน  บุญข้าวจี่
           เดือนสาม      ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในวันมาฆบูชาที่วัด  ทำบุญตักบาตรในช่วงเช้าและกลางคืนชาวบ้านจะไปร่วมเวียนเทียน
           เดือนสี่       ทำบุญพระเวส  ฟังเทศน์มหาชาติ  นำของมาถวายที่วัด ซึ่งชาวบ้านเรียก "กัณฑ์หลอน"
           เดือนห้า  ทำบุญขึ้นปีใหม่หรือทำบุญสรงน้ำพระพุทธรูปซึ่งชาวบ้านจะเรียกว่า "ทำบุญกลางบ้าน"
           เดือนหก งานบุญบั้งไฟ  ขอให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล เพื่อการปลูกพืช
           เดือนเจ็ด       ทำบุญเทวาอารักษ์หลักเมือง (วีรบุรุษ) ซึ่งจะไปประกอบพิธีกรรมที่ดอนเจ้าปู่ตา
           เดือนแปด     ทำบุญเข้าพรรษา
           เดือนเก้า       ทำบุญข้าวประดับดิน  โดยนำข้าวและอาหารคาวหวานพร้อมหมากพลู ห่อด้วยใบตอง นำไปวางตามต้นไม้และพื้นหญ้าเพื่ออุทิศแก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว
           เดือนสิบ ทำบุญข้าวสากหรือข้าวสารท ซึ่งเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตาย
           เดือนสิบเอ็ด   ทำบุญออกพรรษา
           เดือนสิบสอง   ทำบุญกฐิน  พิธีถวายกฐิน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สสส